สุชาติ สงวนพันธุ์
การเลี้ยงไก่ไข่เพื่อให้ขนาดไข่ได้ขนาดฟองโต อายุการให้ไข่นาน ประสิทธิภาพการใช้อาหารเพื่อผลิตไข่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดโรคแทรกซ้อนน้อย อัตราการตายต่ำกว่าและอัตราการคัดทิ้งต่ำ สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดการเลี้ยงดูเอาใจใส่เป็นอย่างดีตั้งแต่ลูกไก่ ไก่เล็ก ไก่รุ่น ไก่สาวนั่นเอง ดังนั้นไก่ไข่หรือก่อนให้ไข่ถือว่าเป็นช่วงที่การลงทุนสูงที่สุดแล้ว เพราะระยะต่อจากนี้ไปต้นทุนการผลิตจะเริ่มลดน้อยถอยลงตามอายุของการให้ไข่ ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ เพื่อให้ไก่ไข่นั้นให้ผลผลิตสูงเป็นระยะเวลาที่นานที่สุดนั้นก็หมายความว่า ผู้เลี้ยงจะได้ค่าตอบแทนสูงนั่นเอง
ความพร้อมของโรงเรียนและอุปกรณ์
การเลี้ยงไก่เพื่อให้ผลผลิตสูงสุด ก่อนที่ไก่ไข่จะให้ผลผลิต 2-4 สัปดาห์ ฝูงไก่รุ่นควรจะย้ายออกจากโรงเรือนเดิม (ไก่เล็กหรือไก่รุ่น ไก่สาว) ไปเลี้ยงในโรงเรือนไก่ไข่ โรงเรือนไก่ไข่ที่ดีควรมีการถ่ายเทอากาศดี ไม่ร้อนอบอ้าว โดยมีขนาดความกว้างประมาณ 6-8 เมตร ส่วนความยาวของโรงเรือนจะมีกรงตับ รางน้ำ รางอาหารที่ปฏิบัติงานสะดวกรวดเร็วและทำความสะอาดได้ง่าย ซึ่งผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเตรียมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในโรงเรือนโดยล้างทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคภายในโรงเรือนและรอบนอกของโรงเรือน พร้อมมีระยะพักโรงเรือนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนย้ายเข้าภายในโรงเรือน
ในกรณีเลี้ยงแบบปล่อยพื้นก็ไม่จำเป็นต้องย้ายไก่ไข่อยู่โรงเรือนใหม่ก็ได้ ไก่จะไม่ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่อุปกรณ์ที่ต้องเพิ่มเข้าไปนอกจากรางน้ำ รางอาหารที่มีอย่างเพียงพอแล้วก็คือ รังไข่ โดยนำรังไข่ (nest) ใส่ในตอนช่วงอายุประมาณ 18-20 สัปดาห์ หรือก่อนที่ไก่จะให้ผลผลิต 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้ฝูงไก่เหล่านั้นคุ้นเคย อัตราส่วนของรังไข่ (nest) ต่อจำนวนไก่คือ 1 รัง ต่อจำนวนไก่ไข่ 5-6 ตัว หากเป็นรังไข่ที่ใช้แล้วก็ต้องทำความสะอาดเช่นกัน โดยผูกหรือตั้งเรียงรายให้ทั่วโรงเรือนเพื่อมิให้เกิดปัญหาไก่แย่งรังไข่กัน ทำให้ไข่เปลือกบุบหรือแตกเกิดความเสียหาย
ส่วนการเลี้ยงแบบกรงตับซึ่งต้องมีการขนย้ายจากโรงเรือนเดิม เข้าสู่โรงเรือนไก่ไข่นั้น ก่อนที่จะมีการย้าย 1-2 สัปดาห์ ควรให้อาหารและน้ำอย่างเต็มที่แก่ฝูงไก่เหล่านั้น โดยการเพิ่มอุปกรณ์ใส่น้ำและอาหารมากขึ้น เพื่อให้ไก่กินน้ำและอาหารได้อย่างเต็มที่มากขึ้น พร้อมกับการละลายยาปฏิชีวนะและไวตามินลงในน้ำดื่มให้กับฝูงไก่ก่อนการขนย้ายด้วย วิธีการขนย้ายควรทำในเวลากลางคืนอากาศเย็นสบาย จะลดการตื่นเต้นตกใจของไก่ ขนย้ายด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือน และไม่ควรใส่ไก่ในกรงแน่นเกินไป เพราะการย้ายฝูงไก่ดังกล่าวเข้าโรงเรือนไก่ไข่ ผลกระทบต่อการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ไก่จะเกิดสภาวะเครียดสูงมาก และควรคัดไก่ที่มีลักษณะไม่สมบูรณ์ ไก่แคระแกร็น หรือพิการออกด้วย
ปัจจัยที่มีผลเกี่ยวข้องต่อการให้ไข่
ปัจจัยที่มีผลเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการให้ไข่ของไก่มีหลายปัจจัย คือ
อุณหภูมิ (Temperature) ไก่เป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ การระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่สามารถระบายออกทางผิวหนังเหมือนคนเรา ดังนั้นการระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอด เข้าถุงลม ส่วนน้ำที่ไก่กินเข้าไปบางส่วนจะระเหยรวมออกมากับอากาศที่ไก่หายใจออก เนื่องจากร่างกายไก่ไม่มีความร้อน (การระเหยของน้ำเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร้อน) ดังนั้นการหายใจก็จะนำความร้อนออกมาด้วย ซึ่งการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายของไก่ โดยมีต่อม Hypothararmus ต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่เสมือนศูนย์ควบคุมการปรับอุณหภูมิของร่างกายไก่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ถ้าอุณหภูมิสูงร่างกายจำเป็นต้องระบายความร้อนออกจากร่างกาย เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายลงโดยการอ้าปาก หอบ กางปีก กินน้ำมากขึ้น ถ่ายเหลว และกินอาหารน้อยลง แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำร่างกายจำเป็นต้องสร้างความร้อนเพื่อชดเชย โดยห่อตัวนอนสุมชิดกันเป็นกลุ่ม หรือนอนโดยเอาหัวซุกไว้ที่ปีก กินอาหารเพิ่มขึ้น อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงจะอยู่ระหว่าง 1-27 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงกว่าการให้ไข่จะลดลง เปลือกไข่บาง ไข่มีลักษณะเล็กลง ไก่จะกินน้ำมากขึ้นและอาหารน้อยลง ถ้าอุณหภูมิต่ำเกินไปประสิทธิภาพการใช้อาหารลดลง เพราะอาหารที่กินจะต้องนำไปสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกายมากขึ้น ปริมาณการไข่ก็จะลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างกระทันหัน ไม่ว่าสูงหรือต่ำ จะมีผลกระทบต่อการไข่ของไก่รุนแรงกว่าการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะไก่สามารถปรับตัวได้นั่นเอง
การถ่ายเทหรือการระบายอากาศ (Ventilation) โรงเรือนไก่ไข่สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงการระบายอากาศ หากสร้างโปร่ง การหมุนเวียนถ่ายเทอากาศดี อากาศเสียจะถูกขับออกนอกโรงเรือนและอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกจะเข้าไปแทนที่ โดยนำความร้อนจากภายในโรงเรือนออกไปด้วย นอกจากนั้นจะเป็นการลดปริมาณเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งไก่ก็สามารถทนได้ แต่ถ้าการระบายอากาศไม่ดีสุขภาพของไก่จะไม่แข็งแรง โรคจะแทรกได้ง่ายขึ้น นอกจากโรงเรือนที่สร้างโดยเน้นให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดีแล้วก็ตาม แต่จำนวนไก่ที่เลี้ยงอยู่ภายในโรงเรือนมีมาก เพื่อประหยัดการใช้พื้นที่และแรงงาน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความร้อนภายในโรงเรือนสูงขึ้น จึงควรใช้พัดลมช่วยดันอากาศอีกทางหนึ่งก็ยิ่งเป็นผลดี
โปรแกรมแสงสว่าง การเลี้ยงไก่ไข่แสงสว่างมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเมื่อไก่มีอายุ 6-22 สัปดาห์ โดยค่อย ๆ เพิ่มแสงให้สัปดาห์ละ 1/2-1 ชั่วโมง จนครบ 4 ชั่วโมง รวมแสงะรรมชาติอีก 12 ชั่วโมงต่อวัน รวมเป็น 16 ชั่วโมง จึงจะเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อที่จะให้ได้ผลผลิตสูง หรืออายุการให้ไข่นานและจะใช้แสงเช่นนี้ไปจนกว่าไก่จะหมดไข่ หรือปลดจำหน่าย ในการปลดไก่ ผู้เลี้ยงไก่ไข่เพื่อการค้าจะเปิดแสงสว่างตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ไก่กินอาหารได้เต็มที่เป็นการเพิ่มน้ำหนักตัวก่อนการส่งตลาดนานประมาณ 7-10 วัน
ความชื้นสัมพัทธ์ (Rekatuve Humidity) ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมประมาณ 50-80 % ซึ่งถ้าความชื้นในอากาศต่ำ การระบายความร้อนออกจากร่างกายจะระบายได้ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยมักจะเจอปัญหาเรื่องความชื้นในฤดูฝน (ร้อน-ชื้น) ซึ่งทำให้การระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่ดีนัก วิธีการลดความร้อนและความชื้นออกจากโรงเรือนใช้พัดลมระบายอากาศช่วยไล่ความร้อนและความชื้นออกจากโรงเรือน หรือใช้วัสดุมุงหลังคาที่สามารถสะท้อนความร้อนได้ดี และไม่เก็บสะสมความร้อน
การให้อาหารไก่ไข่ เป้าหมายสำคัญของอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่ต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด และมีประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ไข่ 1 ฟองต่ำที่สุด อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตไข่ 1 ฟอง เป็นค่าอาหารประมาณ 60% ดังนั้นจะมีผลเกี่ยวข้องไปถึงเรื่องอัตราการให้ไข่ และขนาดตัวของไก่ด้วย ซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องเลือกสายพันธุ์ไก่ที่มีอัตราการให้ไข่ดกและขนาดตัวเล็กเพื่อประหยัดค่าอาหาร นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ฤดูกาลก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการกินอาหารและการให้ผลผลิตของไก่ไข่ ดังนั้นสูตรอาหารควรเปลี่ยนตามฤดูกาล เช่น ฤดูร้อนเปอร์เซ็นต์การให้ไข่ลดลง เปลือกไข่บาง เพราะกินอาหารได้น้อย จำเป็นต้องเพิ่มเปอร์เซ็นต์โปรตีนให้สูงขึ้น เพื่อให้ไก่ไข่ได้โปรตีนตามความต้องการของร่างกาย ทางตรงข้ามฤดูหนาวอากาศเย็น ไก่จะกินอาหารได้มากขึ้นเพื่อให้ได้ปริมาณพลังงานที่เพียงพอ เพื่อสร้างความอบอุ่นที่เป็นผลต่อร่างกาย ดังนั้นระดับเปอร์เซ็นต์โปรตีนควรลดลงเพื่อลดต้นทุนการผลิต
อายุการไข่ของไก่ไข่
ไก่ไข่พันธุ์ทางการค้าโดยทั่วไปจะเริ่มให้ไข่เมื่อประมาณ 21-22 สัปดาห์ และมีแนวโน้มว่าอายุการให้ไข่จะให้ไข่ที่อายุน้อยลง อนาคตคาดว่าไก่ไข่จะเริ่มให้ไข่ที่อายุ 19-20 สัปดาห์ ทั้งนี้เพราะความสามารถของนักปรับปรุงพันธุ์ เพื่อต้องการให้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำสุดและให้ผลผลิตเร็วที่สุด โดยทั่วไปไก่ไข่จะให้ไข่สูงสุดหลังจากอายุการไข่ประมาณ 8-12 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือน ซึ่งระยะการให้ไข่สูงสุด (Peak Production) จะยาวนานประมาณ 10-20 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการและดูแล
วิธีการจัดการเพื่อให้ระดับการให้ไข่สูงสุด
ในการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อให้ไก่ไข่มีช่วงอายุการให้ไข่สูงสุดยืนอยู่ได้มากน้อยเพียงใด นอกจากจะต้องมีการจัดการเลี้ยงดูฝูงไก่ให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ตั้งแต่แรกจนถึงก่อนไข่แล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เช่น
- ฤดูกาล ถ้าช่วงการให้ไข่สูงสุดตรงกับฤดูร้อน ย่อมทำให้ระยะการให้ไข่สูงสุดสั้นลง แนวทางแก้ไขคือ ปรับสูตรอาหารที่เหมาะสม ลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน
- สภาวะแวดล้อม ถ้าช่วงการให้ไข่สูง (Peak Production) ต้องเจอกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันบ่อย ๆ ย่อมทำให้ช่วงการให้ไข่สูงสุดสั้นลงเช่นกัน แนวทางแก้ไขควรติดตามการพยากรณ์อากาศอยู่เสมอ เพื่อที่จะหาทางป้องกันล่วงหน้าโดยให้ไก่ได้รับไวตามิน หรือยาปฏิชีวนะ
- การจัดการเรื่องอาหาร จะสังเกตได้ว่าในช่วงการให้ไข่สูงสุด ไก่จะกินอาหารเพิ่มมากขึ้นหากผู้เลี้ยงไก่ไข่เพิ่มปริมาณอาหารให้ได้มากขึ้นตามความต้องการขึ้นไปเรื่อย ๆ ย่อมทำให้ช่วงระยะเวลาของ Peak Production ยาวนานขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นวันละน้อย ๆ 2-3 กรัม (ปกติให้โดยเฉลี่ยต่อประมาณ 110 กรัม) และเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งที่ผู้เลี้ยงเพิ่มปริมาณอาหารมากขึ้น แต่เปอร์เซ็นต์การให้ไข่ไม่เพิ่มขึ้น ผู้เลี้ยงควรจะหยุดปริมาณอาหารที่จุดนั้น และถ้าเปอร์เซ็นต์การให้ไข่ลดลงผู้เลี้ยงก็ต้องลดปริมาณอาหารลงตามด้วย ซึ่งในที่สุดก็อยู่คงที่ ปริมาณการกินอาหารเฉลี่ยต่อตัวต่อวันประมาณ 110 กรัม
หมายเหตุ อายุการให้ไข่นับจากเริ่มไข่ 5% คือสัปดาห์ที่ 1 ของการให้ไข่และเมื่ออายุการไข่ 53 สัปดาห์ เปอร์เซ็นต์การให้ไข่จะต่ำลง ถึงจุดที่ผู้เลี้ยงไม่มีกำไรและปลดจำหน่ายในที่สุด
อัตราการไข่
ในการคิดคำนวณอัตราในการไข่ คิดได้ 2 วิธีคือ
1. Hen Day Production โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การไข่ของไก่ทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้น ๆ โดยไม่รวมไก่ไข่ที่ขายหรือคัดออกไปแล้ว
สูตรการคิดคือ จำนวนไก่ทั้งหมด x 100 = เปอร์เซ็นต์การไข่ของไก่ที่เหลือ
จำนวนไก่ที่เหลือขณะนั้น
สมมติว่ามีไก่ 1,000 ตัว ให้ไข่ต่อวัน 800 ฟอง
= 800 x 100 = 80%
1,000
2. Hen Housed Production โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์การไข่ของทั้งหมดที่เริ่มจำนวนทั้งหมดที่นำเข้าโรงเรือนไก่ไข่
สูตรการคิดคือ จำนวนไข่ทั้งหมด x 100 = เปอร์เซ็นต์การให้ไข่ของไก่ทั้งหมด
จำนวนไก่ทั้งหมดที่เริ่มไข่
สมมติว่ามีไก่เริ่มต้นนำเข้าเพื่อให้ไข่ 1,000 ตัว ให้ไข่วันนี้ 850 ฟอง
= 800 x 100 = 85%
1,000
การหาอัตราของไข่โดยวิธี Hen Housed Production ทำให้ผู้เลี้ยงต้องใช้ความสามารถในด้านการจัดการเลี้ยงดูเพื่อมิให้ไก่ตาย หรือถูกคัดทิ้งออกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการดำเนินกิจการ
ลักษณะของไก่ที่ไข่ดีและไข่ไม่ดี
การศึกษาถึงลักษณะของไก่ที่ไข่ดีและไข่ไม่ดี ยังคงมีความจำเป็นที่ผู้เลี้ยงจะต้องสังเกตดูลักษณะต่าง ๆ ของร่างกายที่ปรากฎให้เห็น ถึงแม้ว่าปัจจุบันไก่ไข่ทางการค้าจะให้ผลผลิตที่ค่อนข้างสูง แต่ก็มีไก่บางตัวในฝูงไม่ให้ไข่หรือกินอาหารฟรีแต่ไม่ให้ไข่ ถ้าผู้เลี้ยงคัดไก่ประเภทดังกล่าวออกย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง